วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555


ขนมวันสารทเดือนสิบ

ประวัติวันสารทเดือนสิบ

วันสารทเดือนสิบเป็นงานทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องและ บุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะจัดขึ้นในเดือน 10 ของทุกปี จะมีการทำบุญในสองวันคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้นหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะ ผู้ที่ต้องตกนรกหรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติ ของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรก ดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญเพื่ออุทิศกุศลให้ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องและ บุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว ในสองวัน ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่จะทำบุญกันในวัน วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 มากกว่า (บางท้องถิ่นทำในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10)



ความสำคัญ

เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ที่เชื่อว่า ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องและ บุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โดยการทำบุญจะทำบุญด้วยหฺมฺรับ ก็คือของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และขนม โดยขนมที่ใช้ในวันสารทเดือนสิบมี5อย่าง ก็คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมกง แต่บางพื้นที่จะมีขนมไข่ปลาด้วย





ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้

ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม
ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ
ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย ให้ดูภูมิฐานสวยงาม
ขนมบ้า เป็นเสมือนเม็ดสะบ้า เพื่อการละเล่นสะบ้า
ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตราไว้ใช้สอย
ขนมไข่ปลา  เป็นเสมือนเครื่องประดับ (จะมีในบางพื้นที่)